ปัจจุบันหลายคนใช้เวลาส่วนใหญ่ในแต่ละวันไปกับการใช้โทรศัพท์มือถือ ขณะที่ยังไม่มีข้อสรุปแน่ชัดว่ารังสีจากโทรศัพท์อาจมีผลกระทบต่อร่างกายได้อย่างไรบ้าง
บางคนอาจเคยได้ยินและสงสัยกับคำถามเกี่ยวกับอันตรายจากโทรศัพท์มือถือว่า รังสีที่ถูกปล่อยออกมาจากโทรศัพท์นั้นมีอันตรายจริงหรือไม่ หรือ การใช้งานต่อเนื่องนาน ๆ สามารถเพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดเนื้องอกได้หรือเปล่า ?
นักวิทยาศาสตร์ได้พยายามไขข้อข้องใจเหล่านี้ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แต่นับถึงวันนี้ก็ยังไม่มีงานวิจัยที่หาข้อสรุปได้แน่ชัด แต่สิ่งหนึ่งที่นักวิทยาศาสตร์รู้แน่ ๆ คือการใช้งานโทรศัพท์นั้นทำให้เกิดคลื่นความถี่วิทยุ ซึ่งเป็นรูปแบบของการแผ่รังสีชนิดไม่ก่อไอออน (Non-ionising radiation)
การแผ่รังสีเช่นนี้ มีความแรงน้อยกว่าการแผ่รังสีชนิดก่อไอออน (Ionising radiation) ซึ่งเกิดจาก เอ็กซ์เรย์ รังสีอัลตราไวโอเลต และรังสีแกมมา ที่สามารถทำให้โครงสร้างดีเอ็นเอของเปลี่ยนแปลงและสร้างความเสียหายกับเซลส์มนุษย์ได้
คลื่นความถี่วิทยุ ชนิดเดียวกับที่ออกมาจากโทรศัพท์มือถือนั้น มีอยู่รอบตัวเรา เช่น คลื่นวิทยุเอฟเอ็ม คลื่นไม่โครเวฟ คลื่นความร้อน และสเปกตรัมมองเห็นได้ ซึ่งการแผ่รังสีชนิดไม่ก่อไอออนนี้ไม่มีพลังงานพอที่จะทำให้ดีเอ็นเอของเราเสียหายหรือก่อให้เกิดมะเร็งได้โดยตรง
แต่จากข้อมูลบนเว็บไซต์ของ สมาคมโรคมะเร็งแห่งสหรัฐอเมริกา มีความกังวลอย่างจริงจังว่า โทรศัพท์มือถืออาจเพิ่มความเสี่ยงเกิดเนื้องอกในสมอง รวมถึงบริเวณศรีษะและลำคอได้
ปกติแล้ว คลื่นความถี่วิทยุในระดับสูง สามารถทำให้เนื้อเยื่อของร่างกายร้อนขึ้นได้ ซึ่งนั่นเป็นวิธีทำงานของเตาไมโครเวฟ แต่ ถึงแม้ระดับของพลังงานที่เกิดจากโทรศัพท์มือถือจะน้อยกว่านั้นมาก สมาคมโรคมะเร็งแห่งสหรัฐฯ กล่าวว่ามันยังไม่แน่ชัดว่าคลื่นจากโทรศัพท์มีผลอย่างไรกับมนุษย์ รวมทั้งแนะนำให้ลดการสัมผัสเพื่อป้องกันไว้ก่อน
โทรศัพท์ที่แผ่รังสีมาก-น้อยที่สุด
เพื่อวัดความเสี่ยงทางสุขภาพจากรังสี นักวิทยาศาสตร์ได้คิดค้นหน่วย SAR (Specific Absorption Rate) หรือ อัตราการดูดกลืนพลังงานจําเพาะ เป็นหน่วยวัดปริมาณพลังจากคลื่นความถี่วิทยุ ที่คนหนึ่งคนซึมซับเข้าสู่ร่างกายขณะใช้โทรศัพท์มือถือ ในหน่วย วัตต์/กิโลกรัม
ระดับ SAR ของมือถือแต่ละรุ่นนั้นแตกต่างกันไป และผู้ผลิตทุกรายจำเป็นต้องรายงานค่า SAR สูงสุดของสินค้าทุกรุ่น ข้อมูลเหล่านี้มีอยู่บนเว็บไซต์และคู่มือที่มาพร้อมกับโทรศัพท์ แต่ผู้บริโภคน้อยคนที่จะอ่านมัน
หน่วยงานรัฐของเยอรมนี ซึ่งทำหน้าที่ตรวจสอบการป้องกันภัยจากรังสี ได้สร้างฐานข้อมูลที่รวบรวมปริมาณรังสีของโทรศัพท์ทั้งรุ่นเก่าและรุ่นใหม่ เพื่อดูว่าโทรศัพท์รุ่นใดแผ่รังสีมากที่สุด
www.bbc.com
www.bbc.com
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น